หลักปฏิบัติ 7

รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล

7.1 คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบในการดูแลให้ระบบการจัดทำรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
แนวปฏิบัติ
7.1.1 กรรมการผู้จัดการและผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ดูแลรับผิดชอบ การจัดทำรายงานทางการเงิน
7.1.2 การให้ความเห็นชอบการเปิดเผยข้อมูลรายงานทางการเงิน คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาถึง

  • ผลการประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายใน
  • ความเห็นของผู้สอบบัญชีในรายงานทางการเงิน และข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับระบบควบคุมภายใน รวมทั้งข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีผ่านการสื่อสารในช่องทางอื่น ๆ (ถ้ามี)
  • ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบ
  • ความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก กลยุทธ์และนโยบายของบริษัท

7.1.3 ผู้ถือหุ้นและผู้สนใจทั่วไปสามารถสืบค้นข้อมูล ซึ่งรวมถึงงบการเงิน รายงานประจำปี แบบ 56-1การจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (Management discussion and analysis – MD&A) ซึ่งเผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ และบนเว็บไซต์บริษัทฯ http://www.ut.co.th/ ทั้งนี้ข้อมูลที่เผยแพร่มีทั้งฉบับภาษาไทยและฉบับภาษาอังกฤษ

 

7.2 คณะกรรมการบริษัทติดตามดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้
แนวปฏิบัติ
7.2.1 ดูแลให้ฝ่ายจัดการมีการติดตามและประเมินฐานะทางการเงินของกิจการ และรายงานต่อคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขโดยเร็ว หากเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้
7.2.2 ในการอนุมัติการทำรายการใด ๆ ต้องไม่กระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินกิจการ สภาพคล่องทางการเงิน หรือความสามารถในการชำระหนี้

 

7.3 คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลให้มั่นใจได้ว่า บริษัทมีแผนในการแก้ไขปัญหา หรือมีกลไกอื่นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินได้ ทั้งนี้ ภายใต้การคำนึงถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย
แนวปฏิบัติ
7.3.1 ติดตาม ดูแลอย่างใกล้ชิดให้กิจการประกอบธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล
7.3.2 ดูแลให้กำหนดแผนการแก้ไขปัญหาทางการเงิน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้ ตลอดจนติดตามการแก้ไขปัญหา โดยให้ฝ่ายจัดการรายงานสถานะอย่างสม่ำเสมอ
7.3.3 การพิจารณาตัดสินใจใด ๆ เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล

 

7.4 คณะกรรมการบริษัทส่งเสริมให้จัดทำรายงานความยั่งยืนตามความเหมาะสม
แนวปฏิบัติ
7.4.1 คำนึงถึงกรอบการรายงานที่ได้รับการยอมรับในประเทศหรือในระดับสากล ทั้งนี้ อาจเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไว้ในรายงานประจำปี หรืออาจจัดทำเป็นเล่มแยกต่างหากตามความเหมาะสมของบริษัท
7.4.2 ดูแลให้ข้อมูลที่เปิดเผยเป็นเรื่องที่สำคัญและสะท้อนการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การสร้างคุณค่าแก่บริษัทอย่างยั่งยืน

 

7.5 คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการจัดให้มีผู้รับผิดชอบงานนักลงทุนสัมพันธ์ที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่น เช่น นักลงทุน นักวิเคราะห์ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เท่าเทียมกัน และทันเวลา
แนวปฏิบัติ
7.5.1 กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบร่วมกับผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน และเลขานุการบริษัททำหน้าที่ติดต่อสื่อสารและให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น

 

7.6 คณะกรรมการบริษัทส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูล
แนวปฏิบัติ

7.6.1 จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษบน website ของบริษัท โดยควรกระทำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เช่น

  • วิสัยทัศน์และค่านิยมของบริษัท
  • ลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัท
  • รายชื่อคณะกรรมการและผู้บริหาร
  • งบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานทั้งฉบับปัจจุบัน และของปีก่อนหน้า
  • แบบ 56-1 และรายงานประจำปี ที่สามารถให้ดาวน์โหลดได้
  • โครงสร้างการถือหุ้น และสิทธิออกเสียง
  • หนังสือเชิญประชุมสามัญและวิสามัญผู้ถือหุ้น
  • ข้อบังคับบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิ
  • นโยบายที่สำคัญ
  • ช่องทางการติดต่อหรือร้องเรียน